ปราสาทหนองตาดสี(ตาดำ) เส้นทางสู่ปราสาทหนองตาสี เป็นทางลูกรังครับไปลำบากมากไม่มีป้ายบอก สถานที่ตั้งอยู่นอกหมู่บ้าน ม.4 บ้านโนนสมบูรณ์ ตำบลไทยเจริญ อำเภอปะคำ ปราสาทหนองตาสีมีสภาพที่พังทลายยังไม่ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร ปรางค์สร้างด้วยศิลาแลง ในอดีตเป็นศาสนสถาน ปัจจุบันเป็นแหล่งโบราณสถาน ปรางค์ประธานก่อด้วยศิลาแลงแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ฐานมีขนาด 3*3 ม. ประตูมี3 ด้าน เป็นประตูหลอก กรอบประตูเป็นหินทราย กำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงมีขนาด 19*22 ม. ซุ้มประตูอยู่ด้านทิศตะวันออก จากการสำรวจโดยกรมศิลปากรพบชิ้นส่วนทับหลังจำหลักภาพบุคคลยืนลักษณะการนุ่งผ้า คล้ายกับประติมากรรมหินทรายรูปบุคคลยืนที่พบที่ปราสาทหินบ้านถนนหัก อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา อยู่ ในเขตบ้านโนนสมบูรณ์ ต.ไทยเจริญ อ.ปะคำ สิ่งก่อสร้างของปราสาทแห่งนี้ประกอบด้วย ปรางค์ประธานก่อศิลาแลง เสากรอบประตูเป็นหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ยอดพังทลายลงเหลือเพียงส่วนล่าง มีซุ้มประตูทางเข้าด้านตะวันออก ด้านอื่นๆ เป็นประตูหลอก สลักลวดลายงดงามอยู่ในวงล้อมของกำแพงศิลาแลง ซึ่งทางด้านใต้มีสิ่งก่อสร้างคล้ายห้อง ถัดจากกำแพงออกไปมีแนวลำคูล้อมรอบแนวกำแพง 3 ด้าน เว้นแต่ด้านตะวันออกซึ่งเป็นด้านทางเข้า ชิ้นส่วนของปราสาทถูกโจรกรรมไปมาก ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นศาสนสถานใดลัทธิศาสนาใด แต่จากลวดลายก้านต่อดอกและรูปบุคคล ลวดลายการแต่งกาย สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 16 โดยได้รับอิทธิพลศิลปะแบบบาปวน
เมื่อได้รับการเชิญชวนจากรุ่นพี่ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องปราสาท ผมซึ่งชื่นชอบเรื่องการสสำรวจแหล่งโบราณสถานอยู่แล้วจึงไม่ผลาดการเชิญชวนครั้งนี้แน่นอนครับ โดยการสำรวจแหล่งโบราณสถานครั้งนี้มีขอบเขตการสำรวจคือ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ ผมจึงได้หาข้อมูลเพิ่มเติมและร่างแผนที่เตรียมตัวเดินทางครับซึ่งเส้นทางก็ไม่ไกลจากที่ผมพักอยู่เท่าไหร่ครับใช้เวลาในการเดินทางชั่วโมงกว่าๆเองครับ
เช้าวันต่อมาตื่นเช้าเดินทางจุดหมายปลายทางคือ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ รุ่นพี่มารับที่ บขส อำเภอนางรอง ต่อด้วยรถยนต์เข้าไปถึงโรงเรียนไทยเจริญวิทยาเพื่อหาไกด์นำทางครับ ชื่อ อาจารย์ไพฑูรย์ ครูสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนไทยเจริญวิทยา และก็ไม่ผิดหวังครับ ครูไพฑูรย์ นำทางไปสู่จุดหมายที่แห่งแรกคือ ปราสาทหนองตาสี(ตาดำ)
ปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ฐานมีขนาดประมาณ 3 x 3 เมตร มีประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออกอีกสามด้านเป็นประตูหลอก กรอบประตูเป็นหินทราย การเข้ากรอบประตูเลียน แบบเครื่องไม้ กำแพงแก้วและซุ้มประตู ก่อด้วยศิลาแลงแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาด 19 x 22 เมตร มี ซุ้มประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออก มีลักษณะดังนี้ คือ มีปีกทั้ง 2 ข้าง เจาะช่องหน้าต่างและที่ตัวกำแพงแก้ว ด้านทิศใต้ มีห้อง 1 ห้อง ด้านทิศเหนือของห้องมีประตูเข้าไปภายในศาสนสถาน ผนังด้านอื่นปิดทึบ ลักษณะ คล้ายวิหารคด จากการสำรวจของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2502 พบชิ้นส่วนทับหลังจำหลักภาพบุคคลยืน ลักษณะการนุ่งผ้าคล้ายกับประติมากรรมหินทราย อายุประมาณ พุทธศตวรรษที่ 16การกำหนดอายุของปราสาทวิเคราะห์จากเสาประดับกรอบประตูซึ่งอาจตรงกับศิลปะแบบบันทายศรี เสาประดับกรอบประตูดังกล่าวมีลักษณะเป็นเสาแปดเหลี่ยม ซึ่งคงมีลายวงแหวนอยู่เฉพาะที่กึ่งกลางเสา และที่เสี้ยวของเสา ลายใบไม้ที่ประดับอยู่เหนือและใต้วงแหวนมีขนาดเท่ากันทุกใบ และระหว่างใบไม้แต่ละใบมีลายอุบะแทรกอยู่เป็นระยะกึ่งเสี้ยวของเสาได้หายไปเหลือเพียงช่องว่างระหว่างลาย ด้วยเหตุที่ว่าเสาประดับกรอบประตูในศิลปะร่วมแบบบันทายศรีนิยมเลียนแบบเสาในศิลปะร่วมแบบเขมร ตั้งแต่สมัยร่วมแบบไพรกเมงในช่วงแรกๆซึ่งไม่ปรากฏกึ่งเสี้ยวของเสาแต่อย่างใด ลักษณะพวกอุบะที่แทรกระหว่างลายใบไม้นี้อาจถือเป็นเอกลักษณ์ของลวดลายบนเสาประดับกรอบประตูในศิลปะร่วมแบบบันทายศรีได้แม้ว่าลายอุบะนี้ได้คงอยู่ต่อมาในศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทยเป็นเวลานานกว่าศิลปะเขมรในประเทศกัมพูชาก็ตาม นอกจากนี้ลักษณะการเข้าประตูของปราสาทบ้านใหม่ไทยเจริญนี้อาจนำไปศึกษาเทียบเคียงได้กับปราสาทเสคตาตุย ในศิลปะเขมรในประเทศกัมพูชา ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 อันเป็นสมัยที่เจิญขึ้นของศิลปะแบบบันทายศรีนี้เอง ปัจจุบันโบรารสถานแห่งนี้เป็นที่ตั้งของโบสถ์ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค โดยสร้างศาลาหลังคามุงสังกะสีคลุมเสากรอบประตูปรางค์ทั้ง 4 ด้านไว้ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปพระแม่มารี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น