วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560

อนุเสาวรีย์เราสู้

จิปาถะ
อนุสาวรีย์เราสู้
ไหนๆก็ผ่านอำเภอปะคำแล้ว เลยไปสักนิดหนึ่ง ตามทางหลวงหมายเลข 348 ประมาณ 30 กิโลเมตร ก็จะถึงอำเภอโนนดินแดง ที่นั่นจะมีอนุสาวรีย์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ คือ อนุสาวรีย์ “เราสู้”
อนุสาวรีย์ เราสู้ เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเกียรติประวัติและวีรกรรมของประชาชน เจ้าหน้าที่พลเรือน ทหาร ตำรวจ กองอาสารักษาดินแดน (อส.) และไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) ได้ผนึกกำลังกันต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่ขัดขวางการสร้างทางสายยุทธศาสตร์สายสำคัญที่มีผลต่อการเมืองการปกครองและความมั่นคงของชาติ สร้างขึ้นเพื่อสกัดกั้นการเจริญเติบโตของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในเขตชายแดนไทย-กัมพูชา
ทางหลวงสายนี้ กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างให้เป็นทางลาดยาง ระยะทางทั้งสิ้น 57 กิโลเมตร เริ่มจากหลักกิโลเมตรที่ 61 ท้องที่อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ผ่านบ้านโนนดินแดง(ปัจจุบันยกฐานะเป็นอำเภอ) ช่องตะโก อันเป็นช่องทางที่ไปบรรจบกับทางหลวงสายตาพระยา ตรงหลักกิโลเมตรที่ 118 อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดสระแก้ว) บริษัทเกอร์สันแอนด์ซัน และบริษัทฟ้าสางหนองแคเหรียญเจริญเป็นผู้ประมูลก่อสร้างตามลำดับ แต่เนื่องจากผู้ก่อการร้ายได้ขัดขวางการก่อสร้างทาง และได้มีการต่อสู้กันในระหว่างการก่อสร้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 110 คน ได้รับบาดเจ็บและทุพลภาพและทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก การสร้างทางใช้เวลานานถึง 5 ปี 8 เดือน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2517-2522
“เราสู้” เป็นอนุสาวรีย์ที่ กอ.รมน.จว.บร. และข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์สร้างขึ้น และได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ขอพระราชทานนาม และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “เราสู้” เป็นชื่อของอนุสาวรีย์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯแก่ชาวบุรีรัมย์
อนุสาวรีย์เราสู้ตั้งอยู่ที่อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างเป็นประติมากรรมกลุ่มคนแบบลอยตัว ประกอบด้วยภาพ
ราษฎรชาย-หญิง ทหารตำรวจ อส. และ ทสปช. หล่อด้วยโลหะรมดำ ขนาดเท่าตัวจริง ยืนอยู่ในลักษณะหันหลังชนกัน มือถือธงชาติไทยและอาวุธในลักษณะรวมพลังต่อสู้ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูง
ที่ฐานทั้งสี่ด้าน เป็นภาพนูนสูงหล่อด้วยปูนซีเมนต์ เป็นภาพแสดงเรื่องราวของผู้คนที่แต่เดิมอยู่กันอย่างปกติสุข ภาพแสดงการสร้างทางสายยุทธศาสตร์ ภาพแสดงความร่วมมือระหว่างทหาร ตำรวจ อส. ทสปช. และประชาชนรวมพลังกันต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายจนได้รับชัยชนะ
อนุสาวรีย์นี้ออกแบบและสร้างโดยหน่วยงานในจังหวัดบุรีรัมย์ คือ ภาควิชาศิลปศึกษา วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์) ดังนั้นรูปลักษณ์ที่ปรากฏจึงแตกต่างไปจากอนุสาวรีย์แห่งอื่นๆ คือมีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นท้องถิ่น ใบหน้าของวีรชนแต่ละคน จึงเป็นใบหน้าที่คุ้นเคยของญาติพี่น้องชาวบุรีรัมย์ ถึงแม้ว่าใบหน้าเหล่านั้นจะปรากฏร่องรอยของความวิตกกังวลอยู่บ้าง แต่ดวงตาที่แสดงถึงความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ในการต่อสู้เพื่อป้องกันชาติบ้านเมือง อันเป็นคุณลักษณะของชาวบุรีรัมย์ที่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้ที่มีกล้าหาญอดทนมาตั้งแต่อดีต สามารถสร้าง
อัตลักษณ์เฉพาะได้อย่างงดงาม
เนื่องจากการก่อสร้างอนุสาวรีย์ เราสู้ มีงบประมาณจำกัด ขนาดของประติมากรรมจึงสร้างได้เพียงเท่าตัวจริง ดังนั้นเมื่อนำเอาอนุสาวรีย์นี้ไปติดตั้งในบริเวณที่เป็นลานกว้าง และเป็นที่สูง อนุสาวรีย์นี้จึงดูมีขนาดเล็กลงไปถนัดตา
สำหรับผม ทุกครั้งที่ผ่านอนุสาวรีย์แห่งนี้ ก็จะแวะเข้าไปสักการะผู้กล้าทั้งหลายที่เป็นคนไทยด้วย และต้องมาต่อสู้กันเอง
ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากปัญหาการสร้างทางหลวงสายละหานทราย-ตาพระยา คิดแล้วก็ปวดหัวครับ


























วัดเขาพระอังคาร

วัดเขาพระอังคาร  เป็นวัดที่มีวัตถุธรรมความสวยงามของวัดพุทธศิลป์สร้างมานานในยุคที่ขอมเรืองอำนาจความสวยงามของวัดพุทธศิลป์ผสมศิลป์ขอม  แนวเดียวกันกับปราสาทหินเขาพนมรุ้ง  ส่วนสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างที่เห็นในวัดปัจจุบัน  ส่วนใหญ่สร้างใหม่ทับของเก่า   มีโบสถ์ที่ประยุกต์จากสถาปัตยกรรมหลายสมัย ดูสวยงามแปลกตา เป็นวัดที่สวยงามใหญ่โตแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์ มีโบสถ์ ศาลา และอาคารต่างๆ
ลักษณะเด่น  เป็นวัดที่สร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบงดงาม แปลกตาและน่าสนใจยิ่ง ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังและเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษด้วย บริเวณวัดเป็นปากปล่องภูเขาไฟคาดว่าเคยเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสมัยทวารวดีเพราะเสมาหินแกะสลักสมัยดังกล่าวหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก  วัตถุธรรมความสวยงามของวัดเขาพระอังคาร  ด้านพุทธศิลป์เน้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สร้างศรัทธาต่อผู้มาเยือน  ได้แก่   ๑. โบสถ์ 3 ยอด สวยงามแปลกตา  แตกต่างจากโบสถ์วัดทั่วไป  โบสถ์ทรงแปลก ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์  และโบสถ์ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษ ๒. ใบเสมาพันปี  ศาสนสถานและโบราณวัตถุอันล้ำค่า มีใบเสมา 8 คู่ ตั้งอยู่ 8 ทิศอย่างองอาจ  ๓.  พระพิฆเนศงาเดียว   ๔. พระพุทธ 109 องค์
๕. พระตำหนักศักดิ์สิทธิ์
๖. เทวรูปเจ้าเมืองขอม
๗.  พระปางนาคปรกนอกโบสถ์
๘. รอยพระพุทธบาทจำลอง  มีรอยพระพุทธบาทจำลองปรากฏชัด สันนิษฐานว่าโบราณวัตถุเหล่านี้น่าจะสร้างในยุคเดียวกับปราสาทหินพนมรุ้ง หรือมากกว่า 2,000 ปี
๙. พระคันธารราษฎร์
๑๐. พระนอนกลางแจ้ง
๑๑. ปล่องภูเขาไฟ
๑๒. ถ้ำกรรมฐาน
สิ่งที่โดดเด่นคือประติมากรรมการก่อสร้างโบสถ์ ศาลา และอาคาร เลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบและลักษณะเด่นตั้งอบู่บนเขาอังคารเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้วอีกลูกหนึ่งในบุรีรัมย์ มีเส้นทางศึกษาเรียนประเด็นใหม่นอกจากประเด็นวัดพุทธศิลป์  สามารถศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างปราสาท  เนื่องจากห่างจากปราสาทพนมรุ้ง 20 กิโลเมตร โดยลงมาจากพนมรุ้ง ถึงบ้านตาเป็กแล้วเลี้ยวซ้ายมาตามทางที่จะไปละหานทรายประมาณ 13 กิโลเมตรแล้วเลี้ยวขวาเข้าทางลูกรังอีกประมาณ 7 กิโลเมตรพบโบราณสถานเก่าแก่ และใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีสำคัญหลายชิ้น
ความเป็นมาของภูเขาพระอังคาร
ภูเขาพระอังคาร เดิมชื่อ ภูเขาลอย เหตุที่เรียกว่าภูเขาพระอังคาร เพราะตามประวัติลายแทงธาตุพนม กล่าวไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 8  ได้มีพญาทั้ง 5 ได้นำพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าไปบรรจุที่พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยมีพระมหากัสสปะเถระและพระอรหันต์ 500 องค์ เป็นประธาน อีกพวกหนึ่งได้นำพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานบรรจุไว้บนภูเขาลอย
ตามประวัติว่าตามที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้วที่เมืองกุสินารา หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว โทณพราหมณ์ได้แจกพระธาตุไป 8 พระนครแล้ว อยู่มามีเมือง ๆ หนึ่งไปขอพระธาตุทีหลังเขาพอดีพระธาตุได้แจกไปหมดแล้ว โทณพราห์มจึงเอาทะนานทองตวงเอาธาตุพระอังคาร (ขี้เถ้า) ให้มา  เมื่อได้พระอังคารธาตุจึงได้เดินทางกลับมาทางทิศอิสานใต้ พอถึงภูเขาลูกนึงคือภูเขาลอย มีรูปลักษณะสวยงามรูปร่างเหมือนรูปพญาครุฑนอนคว่ำหน้า จึงมีความคิดว่าน่าจะนำพระอังคารธาตุบรรจุไว้ที่แห่งนี้  เมื่อลงความเห็นเป็นอันเดียวกันแล้ว  จึงได้สร้างสถานที่บรรจุพระอังคารธาตุไว้ที่ไหล่ข้างซ้ายของพญาครุฑและเปลี่ยนชื่อภูเขาลอยเป็นภูเขาพระอังคาร ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ที่ตั้ง 
วัดเขาพระอังคาร  บ้านเจริญสุข ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นวัดที่สร้าง     มานานในยุคที่ขอมเรืองอำนาจแถวนี้  น่าจะสร้างในยุคเดียวกันกับปราสาทหินเขาพนมรุ้ง
ส่วนสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างที่เห็นในวัดปัจจุบัน  ส่วนใหญ่สร้างใหม่ทับของเก่า  ตัววัดตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 ก.ม.  ตั้งอยู่บนยอดเขาพระอังคารซึ่งสูงประมาณ 320 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีโบสถ์ที่ประยุกต์จากสถาปัตยกรรมหลายสมัย ดูสวยงามแปลกตา เป็นวัดที่สวยงามใหญ่โตแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์ มีโบสถ์ ศาลา และอาคารต่างๆ
เป็นวัดที่สร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบงดงาม แปลกตาและน่าสนใจยิ่ง ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังและเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษด้วย บริเวณวัดเป็นปากปล่องภูเขาไฟคาดว่าเคยเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสมัยทวารวดีเพราะเสมาหินแกะสลักสมัยดังกล่าวหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก
เขาอังคารเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้วอีกลูกหนึ่งในบุรีรัมย์ อยู่ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากปราสาทพนมรุ้ง 20 กิโลเมตร โดยลงมาจากพนมรุ้ง ถึงบ้านตาเป็กแล้วเลี้ยวซ้ายมาตามทางที่จะไปละหานทรายประมาณ 13 กิโลเมตรแล้วเลี้ยวขวาเข้าทางลูกรังอีกประมาณ 7 กิโลเมตรพบโบราณสถานเก่าแก่ และใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีสำคัญหลายชิ้น
ลักษณะทั่วไป   
ลักษณะทั่วไปภูเขาพระอังคารเขาพระอังคารเป็นประเภทเนินลาวาบซอลท์ปากกรวยภูเขา เกิดจากการประทุของภูเขาไฟ มีปากปล่องใหญ่อยู่ที่เขากระดูก และมีปากปล่องเล็กอีกหลายแห่ง การประทุของภูเขาไฟเกิดขึ้นในยุคควอเทอร์นารีหรือประมาณ 700,000 ปีมาแล้ว ซากภูเขาไฟถ้ามองระยะไกลจะมีลักษณะเป็นเนินเขาแผ่กว้างเป็นแนวยาวเหนือใต้ ถ้ามองจากที่สูงจะเห็นเป็นรูปคล้ายพญาครุฑที่กำลังกระพือปีกหรือคว่ำหน้า หันหัวไปทางทิศใต้มีขุนเขาเขียวขจี คือหมู่บ้าน ถาวร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนที่ลำตัวที่ต้นปีกซ้ายคือที่โบราณวัตถุและพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้า มีปีกซ้ายเป็นเนินเขายื่นไปทางทิศตะวันออก คือหมู่บ้านเจริญสุข  อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์  ส่วนหางยื่นไปทางทิศเหนือทางบ้านสวายสอ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ภูเขาพระอังคารมียอดสูง 331 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปกคลุมพื้นที่ประมาณ 90 ตารางกิโลเมตร

ความสำคัญของภูเขาพระอังคาร
เป็นแหล่งศึกษาด้านธรณีวิทยาเกี่ยวกับภูเขาไฟและมีความสำคัญเกี่ยวกับโบราณคดี ยังมีทรัพยากรหินที่สำคัญ ทรัพยากรป่าไม้หลากหลายพันธุ์ รวมทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ   ศาสนา และวิวัฒนาการในการสร้างศาสนสถานด้วยน้ำมือมนุษย์อย่างแท้จริง ในสมัยโบราณของบรรพบุรุษของชาวอิสานใต้

โบราณสถาน
วัดเขาพระอังคาร  ตั้งอยู่บนเขาพระอังคาร  บ้านสายบัว  หมู่ที่  14  ตำบลเจริญสุข  อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดบุรีรัมย์  ใช้ทางหลวงหมายเชย  24  ตรงไปจนถึงสามแยกไฟแดงโรงเรียนบ้านตะโก  แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหมายเลข  2117  ผ่านบ้านดอนหนองแหน  ตรงไปบ้านโคกหัวเสือ  จะพบป้อมยามสามแยกโคกกรวด  (ตู้ยามราษฎรร่วมใจ) ให้เลี้ยวขวา แล้วตรงไปถึงหมู่บ้านเจริญสุข  แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านถนนเจริญสุขรวมมิตรเส้นกลางหมู่บ้านไปประมาณ  5  กิโลเมตรก็จะถึงเขาพระอังคาร

ประวัติวัดเขาพระอังคาร
          บนวัดเขาพระอังคารมีโบราณวัตถุศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การสักการบูชา  คือพระอังคารธาตุ  รอยพระพุทธบาทจำลอง  ใบเสมาศิลาแลง 8  คู่  8  ทิศ  แผ่นเสมาศิลาแลงแกงสลักเป็นรูปต่าง ๆ รูปเสมาธรรมจักรอันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา  สร้างเมื่อสมัยใดไม่มีใครทราบ  แต่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนปราสาทเขาพนมรุ้ง  ในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจและนับถือศาสนาพราหมณ์  อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาถูกอิทธิของศาสนาพราหมณ์เขาครอบครอง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ขาดการทำนุบำรุงรักษาจากผู้คนมานับเป็นพัน ๆ ปี
ต่อมาเมื่อปี  พ.ศ. 2471 หลวงพ่อก้อน ยโสธโร วัดโพธาราม บ้านผักหวาน ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง  ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูโสภณธรรมคุต ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอนางรองได้นำพระภิกษุสามเณรและญาติโยมบ้านผักหวาน มาสร้างศาลาเก็บรอยพระพุทธบาทจำลองเพื่อทำบุญเดือน 6 เป็นประจำทุกปี
พ.ศ. 2494  พระครูโสภณธรรมคุตได้มรณภาพลง  โบราณสถานวัตถุก็ขาการทะนุบำรุง  จะมีแต่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง  เช่น  บ้านเจริญ  บ้านหนองสะแก  บ้านป่ารังมาทำบุญตักบาตรเพื่อทำพิธีบวงสรวงขอฝนทุกปี
พ.ศ. 2497  หลวงพ่อบุญมา  ธมฺมโชโต  เจ้าอาวาสวัดเจริญสุข ได้นำญาติโยมบ้านเจริญสุขและญาติโยมบ้านใกล้เคียงมาทำถนนขึ้นไปบนเขาพระอังคาร  เพื่อสะดวกในการเดินทางขึ้นไปทำบุญบนเขาพระอังคารในเดือน  10  โดยใช้เกวียนเป็นพาหนะ
พ.ศ. 2500 หลวงพ่อบุญมา ธมฺมโชโต  ได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมสมถกัมมัฏฐานและวิปัสนากัมมัฏฐาน  ที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ เมื่อกลับมา  รับนิมนต์จากผู้ใหญ่และข้าราชการให้ไปจัดสร้างสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดเขากระโดง  จังหวัดบุรีรัมย์  ก่อนไปหลวงพ่อบุญมาได้ทำนายไว้ว่าตัวท่าน     บุญบารมียังน้อย ไม่สามารถจะสร้างเขาพระอังคารให้เจริญรุ่งเรืองได้  ต่อไปจะมีผู้มีบุญบารมีมาสร้างเขาพระอังคารให้เจริญรุ่งเรืองได้  หินก็จะขายได้และจะมีพาหนะยวดยานขึ้นลงมากมาย
หลักจากนั้นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนเขาพระอังคารจึงรกร้าง ขาดผู้ดูแลรักษา  ปีหนึ่งจะมีเฉพาะชาวบ้านใกล้เคียงขึ้นไปทำบุญตักบาตร  ทำพิธีบวงสรวงขอฝนปีละครั้ง
พ.ศ. 2520 พระอาจารย์ปัญญา  วุฒิโส  จากสำนักถ้ำผาแดง  จังหวัดอุดรธานี  ได้นั่งปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน  ได้นิมิตเห็นหลวงปู่วิริยะเมฆซึ่งเป็นผู้สำเร็จอรหันต์ ประทับอยู่บนเขาพระอังคารมาอาราธนาท่านให้ไปทำการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุอันล้ำค่า  มีพระอังคารธาตุ  ใบเสมาศิลาแลง 8 คู่ 8 ทิศ และรอยพุทธบาทจำลองเพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  สืบทอดประเพณีของพุทธองค์ให้เจริญรุ่งเรืองให้แล้วเสร็จภายใน  10  ปี
ในเดือนมกราคม  พ.ศ. 2520 พระอาจารย์ปัญญา  วุฒิโส  ได้เดินธุดงค์มายังเขาพระอังคาร  ก็ได้พบเห็นโบราณวัตถุตามที่หลวงปู่วิริยะเมฆนิมิตให้ทุกอย่างจึงได้จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมเรื่อยมาและมีญาติโยมจากหมู่บ้านใกล้เคียงและต่างจังหวัดมารักษาศีลปฏิบัติธรรมอยู่ประจำเสมอมา
ปัจจุบันเขาพระอังคารได้จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานและโบราณวัตถุของจังหวัดบุรีรัมย์อีกแห่งหนึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนชาวพุทธและนักเรียนจากโรงเรียน   ต่าง ๆ ได้ไปเข้าค่ายพุทธบุตรที่วัดเขาพระอังคาร  เป็นที่ท่องเที่ยวของอำเภอเฉลิมพระเกียรติเพราะมี สิ่งก่อสร้างประยุกต์หลายสมัยมารวมกันไว้เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา
อุโบสถ
มีการออกแบบโดยนำศิลปะและสถาปัตยกรรมยุคสมัยต่างๆ มาผสมกลมกลืนรูปลักษณ์อุโบสถคล้ายปรางสามยอด  มียอดเจดีย์แต่ละองค์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม  ลดหลั่นกันไป  กึ่งกลางของฐานแต่ละชั้นทำเป็นชั้นทำเป็นซุ้มเรือนแก้วประดับอย่างสวยงามที่น่าสนใจ  คือมีพระประธานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
โบราณวัตถุเก่าแก่และสิ่งก่อสร้างใหม่
  1. ใบเสมาหินแกะสลักรอบอุโบสถทำจากหินศิลาแลง 8 คู่ 8 ทิศ ขนาดสูง 108 ถึง 210 เซนติเมตร  เป็นศิลปะขอมแบบไพรกเม็ง  สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่  13-14  เกือบทุกหลักสลักเป็นเทวรูปยืนถือดอกบัว  แต่งกายตามแบบความนิยมของคนในยุคนั้นคือนุ่งผ้าสั้นมีชายพกด้านขวา  เทรูปส่วนใหญ่มีลักษณะไม่สมบูรณ์เพราะถูกขโมยลักลอบสกัดเอาภาพพระพักตร์ออกไป  จึงได้ใช้ปูนปั้นพอกซ่อมแซมไว้แต่ก็ยังเหลือใบเสมาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ให้ชม  ใบเสมาสลักเป็นรูปทิพยบุคคลหรือเทวรูปในพระพุทธศาสนานิกายมหายานประทับยืนบนแท่นสี่เหลี่ยมด้านหลังมีพัดโบก และมีฉัตรอยู่ด้านบน
  2. รอยพระพุทธบาทจำลองไม่ทราบหลักฐานการสร้าง
  3. พระอังคารธาตุเป็นสิ่งที่ควรสักการบูชาได้ประดิษฐานไว้บนอุโบสถ
  4. พระพุทธรูปปางมารวิชัยรอบอุโบสถ 108 องค์
  5. ตำหนักหลวงปูวิริยะเมฆ
  6. พระนอนขนาดใหญ่ 1 องค์
  7. มณฑปประดิษฐานพระพุทธรูป
  8. พระมหากัจจายนะ
  9. ศาลาเจ้าแม่กวนอิม
  10. ศาลาปฏิบัติธรรม        























ปราสาทเมืองต่ำ

          ปราสาทหินเมืองต่ำ ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทาง ทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ 64 กิโลเมตร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2478 และได้เข้ามาทำการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2531 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2539 ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน และปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ศิลปะขอมโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16-17 มีลักษณะเป็นกลุ่มปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนศิลาแลงอันเดียวกัน เรียงเป็น 2 แถวตามแนวทิศเหนือใต้ แถวหน้า 3 องค์ องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าปรางค์อื่น ส่วนแถวหลังมีปรางค์อิฐจำนวน 2 องค์ วางตำแหน่งให้อยู่ระหว่างช่อง ของปรางค์ 3 องค์ ในแถวแรก ทำให้สามารถมองเห็นปรางค์ทั้ง 5 องค์ พร้อมกันโดยไม่มีองค์หนึ่งมาบดบัง
 ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างจากปราสาทแห่งอื่นๆ ที่จะมีปรางค์องค์ใหญ่ตรงกลางและล้อมรอบด้วยปรางค์ขนาดเล็กกว่าทั้ง 4 มุม ปรางค์ประธาน ปัจจุบันมีสภาพให้เห็นเฉพาะฐานเท่านั้น โดยมีผนังเเป็นรูป สี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมขนาด 7 x 7 เมตร โครงสร้าง โดยรวมนั้นมีลักษณะเหมือนกับปรางค์บริวารทั้ง 4 องค์ จะต่างกันก็เพียงแต่ปรางค์ประธานมีมุขหน้า ส่วนปรางค์บริวารไม่มี ปรางค์ประธานจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และเป็นด้านที่มีประตูเข้าสู่ภายในองค์ปรางค์เพียงด้านเดียว ส่วนที่เหลืออีก 3 ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกนั้น ทำเป็นรูปประตูหลอก
จากการขุดค้นเพื่อทำการบูรณะ ปราสาทเมืองต่ำ ของกรมศิลปากร ได้ขุดพบหน้าบันและทับหลังของมุขปราสาทปรางค์ประธานทำจากหินทราย หน้าบันจำหลักเป็นรูปพระอินทร์ประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาสนะ คือ นั่งชันเข่าขวาขึ้น ขาซ้ายพับเหนือช้างเอราวัณสามเศียรในซุ้มเรือนแก้วอยู่บน หน้ากาล ลักษณะของซุ้มหน้าบันนี้ เป็นศิลปะเขมรแบบบาปวน มีอายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 ปราสาททั้ง 5 จะล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีทับหลังและซุ้มประตูแกะสลักด้วยหินทรายอย่าง งดงาม มีสระน้ำ หรือบาราย กรุด้วยศิลาแลง ทั้ง 4 ทิศ มุมสระมีพญานาคหินทราย 5 เศียร ทอดตัวยาวรอบขอบสระน้ำ ชั้นนอกปราสาทมีกำแพงศิลาแลงอีกชั้น
ความโดดเด่นของ ปราสาทเมืองต่ำ นอกจากจะได้ชมสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สวยงามของโบราณสถานแห่งนี้แล้ว ยังได้ชมหมู่บ้านที่ตั้งเรียงรายเป็นกลุ่มอยู่กับปราสาทนี้ด้วย ชาวบ้านอยู่ที่นี่มานานจนมีความรู้สึกว่าปราสาทคือส่วนหนึ่งของชุมชน การดำเนินชีวิตของชาวบ้านโคกเมืองสัมพันธ์กับความงามของปราสาท กลายเป็นความสงบร่มเย็นน่าสนใจไม่น้อย
ปราสาทหินเมืองต่ำ เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 7.30-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท 
การเดินทางไป ปราสาทเมืองต่ำ ไปได้หลายทาง ส่วนใหญ่ใช้เส้นทางบุรีรัมย์-นางรอง-พนมรุ้ง เข้าไปปราสาทเมืองต่ำระยะทางแยกเข้าไปประมาณ 83 กิโลเมตร หรือจะไปเส้นทางบุรีรัมย์-ประโคนชัย เข้าประสาทเมืองต่ำ ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ สายประโคนชัย-บ้านกรวด ซึ่งเป็นเส้นแยกสายตะโก-พนมรุ้ง-ละหานทรายก็ได้













ปราสาทหินพนมรุ้ง

                                     


                                                       https://youtu.be/B5MhCfouHAo

ประวัติบุรีรัมย์

                                             



                                                        https://youtu.be/IkKWCEF17p8